ด้วยแรงบันดาลใจของผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ต้องการสื่อให้คนทั่วไปเห็นว่า “คนรุ่นใหม่ก็มีหัวใจรักษ์เกษตร” อาชีพเกษตรกรรมไม่ใช่ อาชีพต่ำต้อย พื้นที่เล็กๆ ถ้ามีปัญญาจะสามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวอย่างยั่งยืนได้…เลยแปลงที่ดิน 1 ไร่ มาพัฒนาการทำเกษตรแบบผสมผสาน ไว้เป็นต้นแบบแปลงสาธิต รองรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่จะกลับมาทำเกษตรในบ้านเกิด
“เมื่อก่อนทำพืชเชิงเดี่ยว ปลูกมะละกอ 15 ไร่ แต่ขาดทุนจากไวรัสในปี 57 เลยยกพื้นที่ให้ญาติๆ ปลูกข้าวและแตงไทย เข็ดขยาดกับพืชเชิงเดี่ยว หันมาทำเกษตรผสมผสานบนที่ดิน 1 ไร่ เพราะต้องการแสดงให้คนอื่น โดยเฉพาะคนจนเห็นว่า คนรุ่นใหม่ไม่ใช่มีแต่กินเที่ยวไปวันๆ แต่สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนในพื้นที่แค่ 1 ไร่ จากการทำเกษตรโดยใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
ฤทัยรัตน์ สุวรรณเจริญ พนักงานราชการ กรมวิชาการเกษตร ผู้ใช้เวลาว่างพัฒนาพื้นที่ 1 ไร่ ใน ต.วังธง อ.เมืองแพร่ ให้กลายเป็นแหล่งทำกินอย่างยั่งยืน…ก่อนอื่นต้องมีหัวใจรักษ์เกษตร พัฒนาพื้นที่อย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากเขียนผังว่าจะทำอะไร วางแผนการตลาด ทำสิ่งแปลกใหม่ที่ผู้บริโภคต้องการ ที่สำคัญงานที่ทำต้องเหมาะกับตัวเอง ไม่ทำอะไรเกินตัว
ส่วนจุดเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรม ฤทัยรัตน์ เล่าว่า เริ่มจากสร้างโรงเรือนอย่างง่าย ขนาด 4.5×16 ม. เพื่อปลูกสตรอเบอรี่ 1,000 ต้น ขุดสระน้ำ 1 งาน เป็นทั้งที่เก็บน้ำ เลี้ยงปลานิล ปลาบ้า ปลายี่สก ประมาณ 15,000 ตัว ให้แกลบ ผักบุ้งที่ปลูกในบ่อเศษ แตงไทยที่แตกเป็นอาหาร ริมบ่อและพื้นที่ว่างปลูกผักสวนครัว
นอกจากนั้น ยังมีโรงเรือนปลูกมะเดื่อฝรั่งขนาด 8×16 ม. เพื่อตอนกิ่งพันธุ์ไว้ขาย เพาะพันธุ์มะละกอตามออเดอร์ที่ได้ พื้นที่ว่าง 4.5×6 ม. เพาะไส้เดือนขาย และนำมูลมาทำปุ๋ย โรงเรือนทำผักไฮโดรโปนิกแบบประหยัดต้นทุนขนาด 4.5×19 ม. ส่วนพื้นที่ว่างริมบ้าน เลี้ยงกุ้งก้ามแดงในกะละมัง บ่อผ้าใบ ขนาด 8×9 ม. ทดลองเลี้ยงกุ้งขาว และเตรียมทำโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่
“พื้นที่แค่ 1 ไร่ ต้องเซตให้ลงตัวที่สุด คุ้มที่สุด ทำอะไรง่ายๆ ้านๆ ใช้วัตถุดิบในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ใช้ขี้วัวทำปุ๋ยคอก เศษใบไม้ทำปุ๋ยหมัก ใช้มูลไส้เดือนบำรุงพืชผัก ใช้สารเคมีเท่าที่จำเป็น ทุกอย่างต้องลงมือทำเองเพื่อประหยัดต้นทุนและเปลี่ยนพฤติกรรมกินอยู่ให้ง่าย อยู่กับธรรมชาติให้มากที่สุด ทำความเหน็ดเหนื่อยให้เป็นความสนุก อดทน และศรัทธาในแนวทางพอเพียง”
คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยอยากกลับบ้านเกิด กลับไปหาครอบครัว แต่ก็ไม่รู้จะทำอะไร แถมกลัวความล้มเหลวจากการเกษตร ฉะนั้นแปลงต้นแบบของ ฤทัยรัตน์ น่าจะเป็นโมเดลให้กับคนกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี…เพราะที่ทำมาแล้ว ใช้พื้นที่ยังไม่เต็ม 1 ไร่ แค่ครึ่งหนึ่งเท่านั้น แต่ทำรายได้ให้ปีละกว่าแสนบาทแล้ว.
ขอขอบคุณบทความจาก : https://www.thairath.co.th/content/643337
แสดงความคิดเห็นด้วย Facebook